วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชนิดของกล้ามเนื้อ


กล้ามเนื้อ (Muscle) เป็นเนื้อเยื่อที่หดตัวได้ในร่างกาย ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวโดยทำงานร่วมกับระบบโครงกระดูก เปลี่ยนแปลงมาจากเมโซเดิร์ม (mesoderm) ของชั้นเนื้อเยื่อในตัวอ่อน และเป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งหมดของร่างกาย แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ

1.  กล้ามเนื้อลาย ( skeletal  muscle )  เป็นกล้ามเนื้อชนิดเดียวที่ยึดเกาะกับกระดูก (bone) โดยเอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) ทำหน้าที่เคลื่อนไหวโครงกระดูกเพื่อการเคลื่อนที่ของร่างกายและเพื่อรักษาท่าทาง (posture) ของร่างกาย การควบคุมการคงท่าทางของร่างกายอาศัยรีเฟล็กซ์ (reflex) ที่อยู่นอกอำนาจจิตใจ ประกอบด้วยเซลล์ที่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว เรียกว่า เส้นใยกล้ามเนื้อ ( muscle fiber )  อยู่รวมกันเป็นมัด เซลล์แต่ละเซลล์ในเส้นใยกล้ามเนื้อจะมีหลายนิวเคลียส  และในเส้นใยกล้ามเนื้อแต่ละเส้นจะประกอบด้วยมัดของเส้นใยฝอย หรือเส้นใยกล้ามเนื้อเล็ก ( myofibrils ) ที่มีลักษณะเป็นท่อนยาวเรียงตัวตามแนวยาว ภายในเส้นใยฝอยจะประกอบด้วยเส้นใยเล็กๆ เรียกว่า ไมโอฟิลาเมนท์ ( myofilament ) ไมโอฟิลาเมนต์ประกอบด้วย      
โปรตีน 2 ชนิด คือ ไมโอซิน ( myosin ) และแอกทิน ( actin ) ไมโอซินมีลักษณะเป็นเส้นใยหนาส่วนแอกทินเป็นเส้นใยที่บางกว่า การเรียงตัวของไมโอซินและแอกทินอยู่ในแนวขนานกัน ทำให้เห็นกล้ามเนื้อเป็นลายขาวดำสลับกัน
ถ้าดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จะมองเห็นเป็นแถบลาย สีเข้ม สีอ่อนสลับกันเห็นเป็นลายตามขวาง แต่ละเซลล์มีหลายนิวเคลียส การทำงานอยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ ( voluntary muscle ) ต้องมีคำสั่งจากประสาทกลางมาควบคุม เรียกการทำงานของกล้ามเนื้อลายที่ต้องอาศัยประสาทว่า Neurogenic contraction เช่น กล้ามเนื้อที่ แขน ขา หน้า ลำตัว เป็นต้น
กล้ามเนื้อจะทำงานประสานกัน คือ ถ้ากล้ามเนื้อมัดหนึ่งหดตัว กล้ามเนื้ออีกมัดหนึ่งจะคลายตัวทำให้กระดูกสามารถเคลื่อนไหวได้ เช่น การงอแขนหรือเหยียดแขนได้ เนื่องมาจากการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อด้านนอกที่เรียกว่า กล้ามเนื้อไบเซฟ ( bicep muscle ) และกล้ามเนื้อท้องแขนด้านในที่เรียกว่า กล้ามเนื้อไตรเซฟ ( tricep muscle) ทำงานตรงกันข้าม การทำงานของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้เรียกว่า Antagonistic muscle

2.  กล้ามเนื้อเรียบ ( smooth  muscle )  เป็นกล้ามเนื้อที่ไม่มีลายตามขวาง  ประกอบด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อเรียบ ที่มีลักษณะแบนยาวแหลมหัวแหลมท้าย (รูปกระสวย) ภายในเซลล์มีนิวเคลียสอันเดียวตรงกลาง  ใยแอกทินและไมโอซินของกล้ามเนื้อเรียบจะอยู่รวมกันอย่างไม่เป็นระเบียบและมองเห็น เป็นรูปร่างไม่ชัดเจน จึงทำให้เห็นเป็นลายไม่ชัดเจน จึงเรียกว่า กล้ามเนื้อนี้ว่ากล้ามเนื้อเรียบ ทำงานอยู่นอกอำนาจจิตใจ ( involuntary  muscle ) เรียกการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบที่ทำงานด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคำสั่งจากประสาทกลางมาควบคุมว่า Myogenic contraction แต่อยู่ภายใต้ การควบคุมของระบบประสาทอิสระ (Autonomie Nervous System) มีหน้าที่ ควบคุมการทำงานของอวัยวะย่อยอาหาร และอวัยวะภายใน ต่างๆ เช่น ลำไส้ กระเพาะอาหาร อวัยวะสืบพันธุ์ มดลูก เส้นเลือดดำ ฯลฯ
กล้ามเนื้อเรียบมีโปรตีนที่ละลายน้ำได้ (Water-soluble) น้อยกว่ากล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบมีไอออน ที่สำคัญๆ คือ K+ และ Ca++น้อยกว่าในกล้ามเนื้อลายแต่มี Na++สูงกว่า



              3.  กล้ามเนื้อหัวใจ ( cardiac  muscle )  เป็นกล้ามเนื้อของหัวใจโดยเฉพาะ  ประกอบด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีรูปร่างเฉพาะที่เป็นกิ่งสาขาโดยจะประกอบด้วยเส้นใยลำต้นซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นใยกล้ามเนื้อโครงร่าง และส่วนของเส้นใยที่ เป็นสาขาก็มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าเส้นใยลำต้น กล้ามเนื้อหัวใจประกอบด้วยเส้นใยฝอยแอกทิน และไมโอซินเรียงกันเป็นกลุ่ม หนาแน่นซึ่งมองเห็นได้ชัดกว่าในกล้ามเนื้อเรียบ รูปร่างเซลล์จะมีลายตามขวางและมีนิวเคลียสหลายอัน มีเส้นใยฝอย แอกทินและไมโอซินที่เรียงตัวสลับอยู่ด้วยกันเหมือนกล้ามเนื้อลาย  แต่แยกเป็นแขนงและเชื่อมโยงติดต่อกันกับเซลล์ข้างเคียง  การทำงานอยู่นอกอำนาจจิตใจเช่นเดียวกับกล้ามเนื้อเรียบ
กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่มีคุณสมบัติพิเศษแตกต่าง จากกล้ามเนื้ออื่น กล้ามเนื้อหัวใจมีการทำงานหรือเต้นเป็นจังหวะตลอดเวลาไม่หยุดตั้งแต่ เริ่มมีชีวิตจนกระทั่งสัตว์ตาย โดยเซลล์กล้ามเนื้อนี้มีแขนงไปประสานกับแขนงของเซลล์ใกล้เคียง เซลล์ทั้งหมดจึงหดตัวพร้อมกัน และหดตัวเป็นจังหวะตลอดชีวิต ควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ


เครดิต:
http://www.med.cmu.ac.th/dept/vascular/human/lesson/lesson6.php#muscle

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น